"ว่าด้วยเรื่องพิมพ์แขนกลม"
สำหรับพิมพ์แขนกลมนี้ แม้ว่าจะเป็นพิมพ์ที่ทางคณะผู้ดำเนินการจัดสร้างวัตถุ และผู้จัดทำหนังสือ "อนุสรณ์ฯ 100 ปี" เล่มแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นในปี 2515 พร้อมกับวัตถุมงคลนั้น จะได้ให้ความสำคัญ และบันทึกไว้เป็นหลักฐานอ้างอิงยืนยันที่มาของแม่พิมพ์นี้ ว่าเป็นแม่พิมพ์แรกที่นำมากดพิมพ์พระผง รุ่น อนุสรณ์ฯ 100 ปี ก็ตาม
แต่เนื่องจากปัจจุบันหนังสือที่ใช้อ้างอิงนั้นพบเห็นได้น้อยมาก จึงไม่สามารถถ่ายทอดให้ได้รับรู้กันในวงกว้าง ผนวกกับมีพระรุ่นอื่นๆ ที่มีพิมพ์ทรงคล้ายๆ กันกับพิมพ์แขนกลมนี้ ทั้งที่สร้างก่อน และหลัง ปี2515 ปะปนให้เห็นกันอยู่ทั่วไปตามสนามพระเครื่องฯ จึงทำให้นักสะสมในปัจจุบันรู้สึกเกิดความไม่ชัดเจนขึ้น มีเพียงพยานบุคคลที่มีส่วนสำคัญใกล้ชิดในพิธีบางท่าน ที่ยังพอถ่ายทอด ยืนยันความมีอยู่ของแม่พิมพ์นี้ให้ทราบกันว่า พิมพ์นี้เป็นพิมพ์ที่ช่างเกษม ได้แกะพิมพ์ของท่านเองไว้ก่อนเป็นปีแล้ว ภายหลังพอทราบว่าทางวัดระฆังฯ จะมีการจัดทำวัตถุมงคล รุ่น อนุสรณ์ฯ100 ปีขึ้น จึงได้นำแม่พิมพ์แขนกลมนี้มามอบให้ใช้ในการกดพระผงพิมพ์สมเด็จ แต่พอกดไปได้ส่วนหนึ่ง คณะกรรมการเล็งเห็นว่าแม่พิมพ์นี้ยังมีความสวยงามไม่มากพอ จึงได้เสนอให้มีการแกะพิมพ์ขึ้นใหม่ ก็คือพิมพ์เศียรโต บล็อคแรกที่นิยมในปัจจุบันนั่นเอง และก็ได้ใช่ภาพพิมพ์เศียรโตนี้ พิมพ์เป็นใบฝอย โฆษณาออกให้บูชาด้วย
ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนนั้นเห็นว่า หากพิจารณากันจากประวัติของทางวัดระฆังฯ ที่บันทึกไว้ จากพยานบุคคล และกรรมวิธีการผลิตของพระรุ่น อนุสรณ์ฯ 100 ปี และรุ่นอนุสรณ์ฯ ต่างๆ ของวัดระฆังฯ ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ใด คือ มวลสารที่มีปูนขาว กล้วย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง คลุกเคล้าเป็นมวลสารหลัก การตัดขอบข้างด้วยมือ การขัดแต่ง และการเคลือบผิวด้วยสีผึ้ง และขนาดของพิมพ์แขนกลมที่ใหญ่กว่า เหล่านี้ก็เป็นสิ่งยืนยันได้มากเพียงพอในการมีอยู่ของพิมพ์ใหญ่ทรงนิยม (แขนกลม)
แม้ในภายภาคหน้าแม่พิมพ์นี้จะเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับกันจะมากหรือน้อยเพียงใด ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่อย่างใด เพราะด้วยเจตนาเพียงเพื่อสืบทอดเรื่องราวความเป็นมา ตามที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ ไม่ให้ถูกลืมไปเท่านั้น
ภาพเปรียบเทียบพิมพ์แขนกลมของวัดระฆังฯ รุ่น 100 ปี และวัดอื่นๆ
1.1-1.3 พิมพ์แขนกลมของวัดระฆังฯ รุ่น 100 ปี
2.1-2.3 พิมพ์ของหลวงปู่นาค วัดระฆังฯ
3.1-3.3 พิมพ์ของวัดกัลยาณมิตร